ชมรมศิษย์เก่าคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร

(ฉบับปี พุทธศักราช 2558)

            คณะวิทยาการจัดการได้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2530 เริ่มแรกได้เปิดสอนในระดับอนุปริญญา (2 ปีแรก) หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต โปรแกรมวิชาการจัดการทั่วไป แขนงวิชาบัญชี แขนงการจัดการทั่วไป แขนงการตลาด และแขนงเศรษฐศาสตร์สหกรณ์ ระดับปริญาตรี (2 ปี หลัง) หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต โปรแกรมวิชาการจัดการทั่วไป แขนงวิชาการบัญชี แขนงการจัดการทั่วไป แขนงการตลาด และแขนงเศรษฐศาสตร์สหกรณ์
timeline_pre_loader

ปี 2538

      ได้มีประกาศพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏขึ้นบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2538 มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายประการ อาทิ เปลี่ยนชื่อ “วิทยาลัยครู” เป็น “สถาบันราชภัฏ” และเปลี่ยนชื่อ “คณะวิชา”เป็น “คณะ” โดยตัดคำว่า วิชา ออกไปและเปลี่ยนแปลงตำแหน่งผู้บริหารของคณะ จากเดิมใช้คำว่า“หัวหน้าคณะวิชา” เป็น “คณบดี”

ปี 2539

      คณะวิทยาการจัดการ ได้รับงบประมาณการก่อสร้างอาคารเรียน ซึ่งได้จากการแปรญัตติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2540 ก่อสร้างอาคารเรียน 8 ชั้น เป็นจำนวนเงิน 42,940,000 บาท โดยทำการก่อสร้างเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2540

      ทั้งนี้ในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2543 อาคารเรียนของคณะวิทยาการจัดการ ได้ทำการเปิดใช้เป็นครั้งแรก โดยได้รับพระราชทาน นามว่า “อาคารเฉลิมพระเกียรติ พระชนมพรรษา 2” หรือที่เรียกกันว่า อาคาร 11

ปี 2547

      สถาบันราชภัฏกำแพงเพชรยกฐานะเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร” มีผลบังคับ ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2547 มีความเป็นอิสระและเป็นนิติบุคคล เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ

หมวดที่ 1

ชื่อ เครื่องหมาย สถานที่ตั้งชมรม และวัตถุประสงค์ชมรม

ข้อ 1 ชมรมนี้มีชื่อว่า “ชมรมศิษย์เก่าคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร” (วจก.มรภ.กพ.) มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Faculty of Management Sciences Kamphaeng Phet Rajabhat University Alumni Association” (FMS-KPRU Alumni)
ข้อ 2 ชมรมนี้ตั้งอยู่ที่ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ตำบลนครชุม อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร 62000
ข้อ 3 ชมรมนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองและธุรกิจใด ๆ  และมีวัตถุประสงค์ต่อไป ดังนี้
        3.1 เพื่อเป็นศูนย์กลางในการติดต่อ และส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และบุคคล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
        3.2 เพื่อเป็นศูนย์กลางในการติดต่อประสานงานกิจกรรมของศิษย์เก่ากับหน่วยงานต่าง ๆ
        3.3 เพื่อสนับสนุนประชาสัมพันธ์และส่งเสริมความก้าวหน้า  สร้างชื่อเสียง และเกียรติภูมิของคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร
        3.4 เพื่อจัดกิจกรรมและบำเพ็ญประโยชน์ กับคณะวิทยาการจัดการและนักศึกษาศิษย์ปัจจุบัน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร
        3.5 เพื่อสร้างความร่วมมือกับองค์กรหรือสถาบันอื่น ๆ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ส่งเสริมการศึกษาและกิจกรรมสาธารณประโยชน์
ข้อ 4 ความหมายของสัญลักษณ์ชมรม
        4.1 FMS ย่อมาจาก Faculty of Management Science (คณะวิทยาการจัดการ)
        4.2 KPRU Kamphaeng Phet Rajabhat University (มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร)
        4.3 เส้นสีเขียว หมายถึง การเติบโต ความสามัคคี และความรุ่งเรือง สดใส
        4.4 สีประจำสาขาวิชา มีดังต่อไปนี้
                4.4.1 สาขาวิชาการบัญชี                                    สีฟ้าเทา
                4.4.2 สาขาวิชาศิลปะศาสตร์                              สีแสด
                4.4.3 สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์                             สีชมพูบานเย็น
                4.4.4 สาขาวิชานิเทศศาสตร์                               สีน้ำตาลทอง
                4.4.5 สาขาวิชาบริหารธุรกิจ                                สีชมพู

หมวดที่  2

สมาชิก

ข้อ 5 สมาชิกของชมรม มี 2 ประเภท คือ
        5.1. สมาชิกสามัญ  ได้แก่ ศิษย์เก่า คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร
        5.2 สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลหรือคณะบุคคลที่อุปการะช่วยเหลือทำประโยชน์แก่ชมรมหรือ ผู้มีเกียรติ หรืออาจารย์ หรือ ศิษย์เก่า ที่คณะกรรมการบริหารชมรมเห็นสมควร เชิญเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์
        5.3 การสมัครเข้าเป็นสมาชิกของชมรม
               5.3.1 ผู้ประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกให้ยื่นใบสมัครตามแบบที่ชมรมกำหนดต่อเลขานุการ
               5.3.2 ให้เลขานุการนำรายชื่อผู้สมัครเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารชมรม หรือทำหนังสือ แจ้งเวียนคณะกรรมการบริหารชมรมเพื่อพิจารณาการรับสมัครเข้าเป็นสมาชิก
               5.3.3 เมื่อคณะกรรมการบริหารชมรมได้ลงมติรับสมัครเข้าเป็นสมาชิกแล้วให้เลขานุการแจ้งให้ผู้สมัครทราบเป็นลายลักษณ์อักษร โดยไม่เสียค่าบำรุงการเป็นสมาชิก
               5.3.4 ผู้ที่ได้เป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์แล้วให้ฝ่ายทะเบียนบันทึกรายชื่อไว้ในทะเบียนสมาชิกของชมรม
ข้อ 6 สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกชมรม มีดังนี้
        6.1 มีสิทธิเข้าร่วมประชุม และร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ชมรมจัดขึ้น
        6.2 มีสิทธิเสนอความคิดเห็น หรือสอบถามเกี่ยวกับการดำเนินงานของชมรม
        6.3 เฉพาะสมาชิกสามัญมีสิทธิได้รับเลือกเป็นกรรมการบริหารชมรม และมีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งที่ชมรมจัดให้มีขึ้น สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งเป็นสิทธิเฉพาะตัวจะใช้แทนกันไม่ได้
        6.4 สมาชิกมีหน้าที่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของชมรม
        6.5 สมาชิกมีหน้าที่ให้ความร่วมมือ และสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของชมรม
        6.6 เมื่อเปลี่ยนแปลง ชื่อ นามสกุล หรือที่อยู่ สมาชิกต้องแจ้งให้นายทะเบียนชมรมทราบในเวลาอันสมควร
ข้อ 7 สมาชิกภาพของสมาชิกทุกประเภทจะสิ้นลงเมื่อ
        7.1 ตาย
        7.2 ลาออก และต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรต่อประธานชมรม
        7.3 คณะกรรมการบริหารชมรมมีมติให้ออกโดยคะแนนเสียง 2 ใน 3 ให้ออกจากการเป็นสมาชิก เนื่องจากประพฤติตนนำความเสื่อมเสียมาสู่ชมรม

หมวดที่  3

คณะกรรมการบริหารชมรม

ข้อ 8 คณะกรรมการบริหารชมรมจะต้องเป็นสมาชิกสามัญโดยประกอบด้วย ประธานชมรม รองประธานชมรม เลขานุการ เหรัญญิก นายทะเบียน  ประชาสัมพันธ์ และกรรมการตำแหน่งอื่น ๆ ตามเห็นสมควร
ข้อ 9 การได้มาของคณะกรรมการบริหารชมรม มีดังนี้
       9.1 ตำแหน่งประธานชมรม ให้เลือกตั้งจากสมาชิกสามัญในที่ประชุม โดยกรรมการบริหารชมรมเป็นผู้เลือก มีมติในที่ประชุมไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ตามระเบียบและวิธีการที่ชมรมกำหนด ทั้งนี้ถ้าหมดวาระให้ดำเนินการสรรหาให้แล้วเสร็จก่อนครบวาระ ไม่น้อยกว่า 30 วัน
       9.2 กรรมการบริหารตำแหน่งอื่นๆ ให้ประธานชมรมที่ได้รับเลือกตั้ง ตามข้อ 8.1 เลือกสรรจากสมาชิกสามัญ เพื่อเสนอแต่งตั้ง
       9.3 ให้ประธานชมรมที่จะพ้นวาระ ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารชมรมชุดใหม่ตามรายชื่อใน 9.1 และ 8.2 ภายใน 30 วัน นับจากวันเลือกตั้งประธานชมรมคนใหม่ และส่งมอบงานให้ประธานชมรมคนใหม่ ภายใน 15 วัน นับจากวันแต่งตั้ง หากการมอบหมายงานไม่เสร็จสิ้นภายในกำหนดดังกล่าว ให้คณะกรรมการบริหารชมรมชุดเก่าหมดอำนาจหน้าที่ และให้คณะกรรมการบริหารชมรมชุดใหม่รับผิดชอบบริหารงานได้ทันที
ข้อ 10 คณะกรรมการบริหารชมรม มีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี และดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 1 สมัย
ข้อ 11 กรรมการบริหารชมรมแต่ละคนพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
                   – ครบวาระการดำรงตำแหน่ง
                   – ตาย
                   – ลาออก
                   – ขาดสมาชิกภาพ เนื่องจากขาดประชุมเกิน 3 ครั้งติดต่อกันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
                   – คณะกรรมการบริหารชมรมมีมติ ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ให้ออก เนื่องจากทำความเสื่อมเสียแก่ชมรม
                   – เมื่อประธานชมรมพ้นจากตำแหน่ง
ข้อ 12 เมื่อกรรมการบริหารชมรมตำแหน่งใดว่างลงก่อนครบวาระให้ดำเนินการดังนี้
         12.1 ตำแหน่งประธานชมรมว่างลง  ให้รองประธานชมรมคนที่หนึ่งรักษาการแทนประธานชมรม และกรรมการบริหารที่เหลือเป็นกรรมการชุดรักษาการ และดำเนินการจัดประชุมใหญ่ เพื่อเลือกตั้งประธานชมรมคนใหม่ และดำเนินการตามข้อ 8.2 และ 8.3 ให้เสร็จสิ้น ภายใน 90 วัน
         12.2 ตำแหน่งอื่น ๆ ว่างลง ให้ประธานชมรมพิจารณาแต่งตั้งจากสมาชิกสามัญ โดยมีวาระเท่าวาระที่เหลือของผู้ที่ตนแทน
         12.3 คณะกรรมการบริหารชมรม มีหน้าที่บริหารกิจการของชมรมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ภายใต้ข้อบังคับนี้ และมีอำนาจออกระเบียบหรือประกาศใดๆ ที่ไม่ขัดแย้งกับข้อบังคับ
         12.4 หน้าที่ของกรรมการบริหารชมรมแต่ละตำแหน่ง มีดังนี้
                 12.4.1 ประธานชมรม  มีหน้าที่ควบคุมการบริหารชมรมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เป็นผู้ลงนามแต่งตั้งและถอดถอนกรรมการหรืออนุกรรมการต่าง ๆ ของชมรม เป็นผู้แทนของชมรมในกิจการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานหรือบุคคลภายนอก และเป็นประธานที่ประชุมคณะกรรมการบริหารชมรม และการประชุมใหญ่
                 12.4.2 รองประธานชมรม  มีหน้าที่ทำการแทนประธานชมรมเมื่อประธานชมรม ไม่สามารถทำการได้ รวมทั้งงานอื่น ๆ ที่ประธานชมรมมอบหมาย
                 12.4.3  เลขานุการ  มีหน้าที่กำกับดูแลงานธุรการของชมรม นัดประชุม จัดเตรียมวาระการประชุม และจัดทำรายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารชมรมและการประชุมใหญ่ และดำเนินงานหรือกิจการอื่น ๆ ของชมรมที่มิได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรรมการอื่นโดยเฉพาะ
                 12.4.4 เหรัญญิก มีหน้าที่รับ–จ่ายและรักษาเงิน  ทำบัญชี และเก็บรักษาเอกสารเกี่ยวกับการเงิน
                 12.4.5 นายทะเบียน มีหน้าที่จัดทำทะเบียนสมาชิก และจัดให้มีการลงทะเบียนเมื่อมีการประชุม
                 12.4.6 ประชาสัมพันธ์  มีหน้าที่เผยแพร่ข่าวสารแก่สมาชิกและบุคคลทั่วไป  และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกชมรม
                 12.4.7 กรรมการอื่น ๆ มีหน้าที่ตามที่คณะกรรมการบริหารชมรมมอบหมาย
ข้อ 13 การประชุมแบ่งเป็น
          13.1 การประชุมใหญ่สามัญ
          13.2 การประชุมวิสามัญ
ข้อ 14 การประชุมใหญ่ ได้แก่ การประชุมสมาชิกเพื่อเลือกตั้งประธานชมรม การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับชมรม หรือการกำหนดตำแหน่งกรรมการเพิ่มเติม ซึ่งต้องมีสมาชิกเข้าร่วมประชุมไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมด และมีคณะกรรมการชมรมไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของคณะกรรมการชมรมทั้งหมด ถ้าสมาชิกประชุมไม่ครบองค์ประชุมให้เลื่อนการประชุมนั้นออกไป  และจัดให้มีการประชุมใหม่อีกครั้งภายในเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่มีการเลื่อนการประชุมในครั้งแรก ในการประชุมครั้งหลังนี้ หากมีสมาชิกมาประชุมจำนวนเท่าใดก็ให้ถือว่าครบองค์ประชุม
ข้อ 15 การประชุมวิสามัญ ได้แก่ การประชุมสมาชิก เพื่อปรึกษา หารือกำหนดวิธีการและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ การรายงานกิจกรรม และฐานะทางการเงิน รวมทั้ง การสั่งจ่ายเงินในกรณีพิเศษ โดยประธานชมรมมีสิทธิเรียกประชุม หรือสมาชิกสามัญไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งมีสิทธิเข้าชื่อขอให้ประธานชมรมเรียกประชุมได้ โดยประธานชมรมต้องทำหนังสือเชิญสมาชิกเข้าร่วมประชุม ภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือขอให้มีการประชุมวิสามัญ
ข้อ 16 การเรียกประชุมสมาชิก ให้ทำเป็นหนังสือแจ้งเชิญประชุมให้สมาชิกทราบล่วงหน้า ไม่ต่ำกว่า 7 วัน
ข้อ 17 การประชุมคณะกรรมการบริหารชมรมต้องมีกรรมการบริหารชมรมเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการบริหารชมรมทั้งหมด จึงจะครบองค์ประชุม มติของที่ประชุมให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ เว้นแต่จะมีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานที่ประชุมชี้ขาด
ข้อ 18 ให้คณะกรรมการบริหารชมรมเชิญบุคคลอื่นใดเป็นกรรมการที่ปรึกษาเพิ่มเติม  เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับการบริหารกิจการของชมรม  กรรมการที่ปรึกษาจะได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมใด ๆ ที่ชมรมจัดขึ้น แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงมติ กรรมการที่ปรึกษาสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งเมื่อคณะกรรมการบริหารชมรมชุดที่เสนอแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง

หมวดที่  4

การเงินและทรัพย์สิน

ข้อ 19 ชมรมมีรายได้จาก
         19.1 เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาค
         19.2 รายได้จากการจัดกิจกรรม
         19.3 รายได้อื่น ๆ
ข้อ 20 เงินของชมรมให้ฝากไว้ในธนาคารพาณิชย์  การเบิกเงินหรือลงนามในเช็คหรือตั๋วสัญญาใช้เงิน ให้ประธานชมรมหรือผู้ทำการแทน หรือเลขานุการ ลงลายมือชื่อร่วมกับเหรัญญิก
ข้อ 21 เหรัญญิกสามารถเก็บรักษาเงินสดไว้เพื่อทดลองจ่ายได้ไม่เกิน 10,000 บาท
ข้อ 22 ประธานชมรมมีอำนาจสั่งจ่ายเงินของชมรมได้ครั้งละไม่เกิน 20,000 บาท ถ้าเกิน 20,000 บาทแต่ไม่เกิน 50,000 บาท ให้ประธานชมรมและเลขานุการเป็นผู้มีอำนาจสั่งจ่าย และถ้าการสั่งจ่ายในกรณีพิเศษ แต่ละครั้งเกิน 50,000 บาท ต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารชมรม โดยคะแนนเสียงต้องไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่เข้าร่วมประชุม
ข้อ 23 เหรัญญิกต้องจัดให้มีบัญชีการเงิน พร้อมด้วยหลักฐานการรับจ่ายให้ถูกต้องตามหลักการบัญชี หลักฐานการรับจ่ายต้องเก็บรักษาไว้เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี เพื่อการตรวจสอบ
ข้อ 24 เหรัญญิกต้องจัดทำรายงานงบดุล และเสนอต่อที่ประชุม
ข้อ 25 ทรัพย์สินอื่นของชมรมที่มิได้เป็นตัวเงิน ให้อยู่ในความรับผิดชอบของเลขานุการ

หมวดที่  5

การแก้ไขข้อบังคับ

ข้อ 26 คณะกรรมการบริหารหรือสมาชิกสามัญไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง มีสิทธิยื่นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับของชมรม โดยระบุหลักการ และเหตุผลในการขอแก้ไข
ข้อ 27 การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ จะต้องนำเข้าที่ประชุมใหญ่และจะต้องได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของผู้มาประชุม

หมวดที่  6

การเลิกชมรมและชำระบัญชี

ข้อ 28 การเลิกชมรม จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ โดยมติให้เลิกด้วย คะแนนไม่น้อย 3 ใน 4 ของสมาชิกทั้งหมด
ข้อ 29 หากชมรมต้องเลิกไป ให้มีการชำระบัญชี เมื่อชำระหนี้เสร็จแล้ว ทรัพย์สินที่มีอยู่ให้ตกเป็นของคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร