Knowledge-Management-1

องค์ความรู้ เรื่อง เทคนิคในการเขียนบทความวิจัยสู่การตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติและระดับนานาชาติเพื่อกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ

โดย อาจารย์ประพล จิตคติ
สาขาการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร
          จากการเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง โดยได้รับเกียนติจากวิทยากร คือ ศาสตราจารย์ ดร.ชุติมา สัจจสนันท์
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ข้าพเจ้าจึงได้สรุปเป็นองค์ความรู้ดังนี้

 

          การเข้าร่วมประชุมวิชาการระดับชาติหรือระดับนานาชาติ นั้นเป็นช่องทางการสื่อสารทางวิชาการที่สำคัญต่อการพัฒนาบุคลากร นักวิชาการ นักวิชาชีพในแต่ละสาขาวิชา ก่อให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ทั้งภาพทฤษฎีและปฏิบัติ เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน การค้นคว้า วิจัย การพัฒนาศาสตร์ และสังคมมากมายเหตุผลหนึ่งของการเลือกไปนำเสนอบทความเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ คือ ต้องมีการตรวจต้นฉบับแบบ Peer Review เท่านั้น จึงจะสามารถนำมาประกอบการยื่นขอตำแหน่งทางวิชาการได้ นอกจากนี้ยังต้องมีการกลั่นกรองคุณภาพโดยผู้ทรงคุณวุฒิและบรรณาธิการที่จัดทำเอกสารการประชุม

 

          การนำเสนอในการประชุมทางวิชาการระดับชาติ/นานาชาติ นั้นมีทั้งการนำเสนอภาคบรรยาย และการนำเสนอภาคโปสเตอร์ซึ่งทางผู้จัดงานจะกำหนดหัวเรื่องการประชุมและประเด็นการนำเสนอผลงานวิชาการล่วงหน้า หากเป็นการประชุมนานาชาติจะทราบล่วงหน้าประมาณ 1 ปี โดยผู้นำเสนองานต้องส่งบทคัดย่อผลงานตามแนวเรื่องหรือขอบข่ายของเรื่องเพื่อเสนอให้ผู้จัดพิจารณาเป็นเบื้องต้น เมื่อได้รับการตอบรับจึงเขียนบทความตามข้อกำหนดหรือแนวทางคณะผู้จัด เช่น รูปแบบการนำเสนอ ระยะเวลา สถานที่ประชุม สื่อประกอบ บทความวิจัยที่ได้รับการคิดเลือกให้นำเสนอนั้นจะได้รับแจ้งให้เขียนเป็นบทความวิจัยตามรูปแบบและจัดส่งตามวันเลา ที่กำหนด ดังที่ข้าพเจ้าได้จัดทำเป็นแผนภูมิรูปภาพ

 

          บทความวิจัยเป็นบทความทางวิชาการประเภทหนึ่ง ซึ่งเขียนขึ้นจากผลงานการค้นคว้าอย่างมีระบบ มีการกำหนดปัญหาและวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน มีการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ ตีความ สรุป และอภิปรายผลการวิจัยที่สามารถให้ข้อมูล คำตอบ อันนำไปสู่ความก้าวหน้าทางวิชาการหรือนำวิชาการนั้นมาประยุกต์ใช้ (ชุติมา สัจจานันท์, 2558)

 

          การเขียนบทความวิชาการ หรือ บทความวิจัย อาจมีรูปแบบที่แตกต่างกัน ผู้สนใจจำเป็นต้องศึกษาและยึดถือรูปแบบตามที่วารสารหรือแหล่งเผยแพร่กำหนด แต่โดยทั่วไปมีโครงสร้างใกล้เคียงกัน โดยมีโครงสร้างดังนี้
1. ชื่อเรื่องงานวิจัย
2. ชื่อผู้วิจัยและคณะฯ
3. บทคัดย่อหรือสาระสังเขป ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ คำสำคัญ
4. ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา / หลักการเหตุผล / บทนำ
5. วัตถุประสงค์ของการวิจัย
6. วิธีดำเนินการวิจัย : ประชากร กลุ่มตัวอย่าง การสุ่มตัวอย่าง เครื่องมือวิจัย การเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล
7. สรุปผลการวิจัย อภิปรายผล และ ข้อเสนอแนะ
8. บรรณานุกรม / เอกสารอ้างอิง
9. ภาคผนวก (ถ้ามี)

 

เอกสารอ้างอิง
          ชุติมา สัจจานันท์. (2558). การเขียนและเผยแพร่บทความวิจัยและบทความทางวิชาการจากงานวิจัย : มุมมองและการปฏิบัติของผู้เขียน และผู้ประเมิน. อัดสำเนา